เห็นแก่ลูก

เห็นแก่ลูก

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เนื้อเรื่องฉบับเต็ม



บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก
                      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 


ตัวละคร  
  • พระยาภักดีนฤนาถ  
  • นายล้ำ (ทิพเดชะ)  
  • อ้ายคำ (บ่าวพระยาภักดีนฤนาถ)  
  • แม่ลออ





 

 ฉากห้องหนังสือ ในบ้านพระยาภักดีนฤนาถ  มีประตูข้างซ้ายเข้าไปในห้องนอน ข้างขวาออกไปเฉลียงทางขึ้นลง  หลังมีหน้าต่าง  เครื่องประดับประดาไม่เป็นของมีราคา  แต่ใช้ได้ดี ๆ      

พอเปิดม่านอ้ายคำพานายล้ำ(ทิพเดชะ)เข้ามาทางประตูขวา นายล้ำนั้นเป็นคนอายุราว   ๔๐ แต่หน้าตาแก่ ผมหงอกหน้าย่นมาก แลจมูกออกจะแดงๆ เห็นได้ว่าเป็นคนกินเหล้าจัด แต่งกายค่อนข้างจะปอนๆแต่ยังเห็นได้ว่าได้เคยเป็นผู้ดีมาครั้งหนึ่งแล้ว

นายล้ำ.             ก็แล้วเจ้าคุณเมื่อไหร่จะกลับ? [1]

อ้ายคำ.              เห็นจะไม่ช้าแล้วครับ ท่านเคยกลับจากออฟฟิศราวบ่าย ๕ โมงทุกวัน.

นายล้ำ.             ถ้ายังงั้นฉันคอยอยู่ที่นี่ก็ได้.

อ้ายคำ.              ครับ. (ลงนั่งกับพื้นที่ริมประตูขวา.)

นายล้ำ.     (ดูอ้ายคำแล้วจึงพูด.) แกไม่ต้องนั่งคอยอยู่กับฉันหรอก มีธุระอะไรก็ไปทำเสียเถอะ.

อ้ายคำ.              ครับ. (นั่งนิ่งไม่ลุกไป.)

นายล้ำ.             ฮือ! (มองดูอ้ายคำครู่หนึ่งแล้วไปยืนมองดูอะไรเล่นที่หน้าต่างสักครู่หนึ่ง   อ้ายคำก็ยัง

นั่งนิ่งอยู่เฉย ๆ  จึงหันไปพูดอีก.) แกจะคอยอะไรอีกล่ะ?

อ้ายคำ.              เปล่าครับ.

นายล้ำ.             ถ้าจะต้องคอยอยู่เพราะฉันละก็ ฉันขอบอกว่าไม่จำเป็น แกจะไปก็ได้.

อ้ายคำ.              ครับ. (นั่งนิ่งไม่ลุกไป.)

นายล้ำ.             (ดูอ้ายคำอีกครู่หนึ่ง  แล้วก็หัวเราะ.) ฮะๆ        ฮะๆ   แกเห็นท่าทางฉันมันไม่ได้การกระมัง แต่ที่จริงฉันน่ะเป็นผู้ดีเหมือนกัน   มีตระกูลไม่ต่ำไม่เลวไปกว่าเจ้าคุณภักดีเลย.     

อ้ายคำ.      (ออกไม่ใคร่เชื่อ.)        ครับ.

นายล้ำ.     ฮือ! แกไม่เชื่อ! ที่จริงแกก็ไม่น่าเชื่อ       รูปร่างฉันมันโทรมเต็มที เครื่องแต่งตัวหรือ ก็ปอนเต็มทียังงี้ แต่ฉันสาบานได้เทียวว่า ฉันจะไม่แตะต้องสิ่งของอะไรของเจ้าคุณภักดีก่อนที่จะได้รับอนุญาต   เข้าใจไหม?

อ้ายคำ.      ครับ.  (นายล้ำมองดูอ้ายคำ  เห็นจะไม่ไปแน่แล้วก็ถอนใจใหญ่  แล้วไปหยิบหนังสือ   เล่มหนึ่งมานั่งอ่านที่เก้าอี้  เงียบอยู่ครู่หนึ่ง.)  

(พระยาภักดีนฤนาถเข้ามาทางประตูขวา พระยาภักดีอายุราวนายล้ำหรือจะแก่กว่านิดหน่อย  กิริยาท่าทางเป็นขุนนางผู้ใหญ่  ฝ่ายอ้ายคำ  พอนายเข้ามาก็ยกมือไหว้ แล้วตั้งท่าจะพูด.)

พระยาภักดี.       อะไรวะ     ?

อ้ายคำ.              รับประทานโทษขอรับ! (บุ้ยปากไปทางนายล้ำ.)

พระยาภักดี.       ใครวะ       ?

อ้ายคำ .             อ้างว่าเป็นเกลอเก่าของใต้เท้า ผมบอกว่าใต้เท้ายังไม่กลับจากออฟฟิศก็ไม่ยอมไปเดินเรื่อยขึ้นมาที่นี่ว่าจะมาคอยพบใต้เท้า.      

พระยาภักดี.       แล้วยังไงล่ะ?

อ้ายคำ.              เกล้าผมก็ตามขึ้นมาด้วย มานั่งคุมอยู่นี่.

พระยาภักดี.       เออ! ดีละวะ! เอ็งออกไปนั่งคอยอยู่ข้างนอกก็ได้.

อ้ายคำ.              ขอรับผม.

พระยาภักดี.       คอยอยู่ใกล้ๆ เผื่อข้าจะเรียก แล้วก็ถ้าคุณลออมา บอกข้าด้วยนะ.

อ้ายคำ.              ขอรับผม. (ออกไปทางประตูขวา.) 



พระยาภักดี.       (แลดูนายล้ำอยู่ครู่หนึ่ง  แล้วกระแอม.)  ฮะแอม!

นายล้ำ.     (เหลียวมาเห็น.) อ้อใต้เท้ากรุณา ผมไหว้(ยกมือไหว้แล้วลุกขึ้นยืน.) ใต้เท้าเห็นจะจำผมไม่ได้.

พระยาภักดี.       (มองดู.)     ฉันไม่สู้แน่ใจ ดูเหมือนจะจำได้คลับคล้ายคลับคลา.

นายล้ำ.             ก็ยังงั้นซิครับ ใต้เท้ามีบุญขึ้นแล้วจะมาจดมาจำคนเช่นผมยังไงได้.

พระยาภักดี.       ฮือ! พิศ      ๆ ไปก็ออกจะจำได้ นายล้ำใช่ไหม?

นายล้ำ.             ขอรับ นายล้ำ ทิพเดชะ.

พระยาภักดี.       อ้อๆ นั่งเสียก่อนซิ, (นั่งทั้งสองคนด้วยกัน.)     เป็นยังไง สบายดีอยู่ดอกหรือ?

นายล้ำ.             ขอรับ ผมก็ไม่เจ็บไข้มีอาการถึงจะล้มจะตายอะไร.

พระยาภักดี.       แกแปลกไปมาก ดูแก่ไป.

นายล้ำ.             ขอรับ ผมก็รู้สึกตัวว่าผมแก่ไปมาก.

พระยาภักดี.       ฉันยังไม่ได้พบแกเลยตั้งแต่...

นายล้ำ.             จริงขอรับ หลายปีมาแล้ว      สิบห้าปีได้แล้ว.

พระยาภักดี.       แหม! ยังงั้นเทียวหรือ?

นายล้ำ.             แน่ละซีครับ เมื่อ...เมื่อเกิดความขึ้นน่ะ ใต้เท้ากับผมยังหนุ่มอยู่ด้วยกันนี่ครับ                          ผมเป็นทิพเดชะ  ใต้เท้ายังเป็นหลวงกำธรอยู่ยังไงล่ะ.

พระยาภักดี.       ถูกล่ะ        ๆ.

นายล้ำ.             แล้วก็ผมยังต้องไป...เอ้อ...ไปเป็นโทษเสียสิบปียังไงล่ะครับ.

พระยาภักดี.       อือๆ! สูบบุหรี่ไหมล่ะ?

นายล้ำ.             ขอบพระเดชพระคุณ. (รับบุหรี่ไปจุดสูบ.)

พระยาภักดี.       แล้วแกไปทำอะไร เห็นหายไป.

นายล้ำ.             ผมขึ้นไปอยู่พิษณุโลกครับ   พอพ้นโทษแล้ว ผมก็เลยเปิดไปให้พ้นบางกอกจะอยู่ดูหน้าพวกพ้องยังไงได้.

พระยาภักดี.       ถูกแล้ว,     ถูกแล้ว,     ทำมาหากินยังไงที่พิษณุโลก?

นายล้ำ.             แต่แรก ผมพยายามหางานทำทางเสมียนบาญชี ก็ไม่สำเร็จ.(หัวเราะ.)

พระยาภักดี.       ฮือ! ในชั้นต้นๆ เห็นจะลำบากจริง แล้วยังไงล่ะ?

นายล้ำ.             แล้วผมก็เข้าหุ้นค้าขายกับเจ๊กสองสามคนด้วยกัน.

พระยาภักดี.       แล้วเป็นยังไง?

นายล้ำ.      ก็ดีหรอกครับ พอไถๆ ไปได้ ไม่สู้ฝืดเคืองนักแต่ภายหลังอ้ายผีโลภมันก็เข้าดลใจผมอีก.

พระยาภักดี.       เอ๊ะ! อะไร เล่นอย่างเก่าอีกหรือ?

นายล้ำ.             เปล่าขอรับ อ้ายอย่างเก่าผมเข็ด, แต่ถึงจะไม่เข็ดมันก็ทำอย่างเก่าอีกไม่ได้ เพราะผมไม่ได้เป็นข้าราชการแล้วอย่างที่ทำครั้งก่อน มันก็ไม่มีโอกาสอยู่เอง ถูกไหมล่ะครับ?

พระยาภักดี.       ถูกแล้ว      เป็นเคราะห์ดีของแกที่ไม่มีโอกาส.

นายล้ำ.     ที่จริงถึงมีโอกาสผมก็ไม่เล่นอีก ผมก็แก่จนหัวหงอกแล้วต้องมีความคิดดีขึ้น กว่าแต่ก่อนสักหน่อยการที่ผมทำอย่างครั้งก่อนน่ะ ผลที่ได้มันไม่มีน้ำหนักเท่าผลที่เสียเลย,เพราะฉะนั้น ผมจึงได้คิดหาหนทางที่จะทำการให้ได้ผลมากๆ และให้มีทางลำบากน้อยๆ.

พระยาภักดี.       ฮือ! แล้วก็ทำยังไงล่ะ ฉันหวังใจว่าการที่ทำนั้นไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย, แต่ที่จริงนี่ก็ไม่ต้องกล่าวเพราะถ้าผิดกฎหมายแกคงไม่มาเล่าให้ฉันฟัง.

นายล้ำ.      อ้อ! เจ้าคุณนี่ก็ยังช่างพูดอยู่เหมือนหนุ่มๆ น่ะเอง การที่ผมทำน่ะ เป็นการค้าขายครับ.

พระยาภักดี.       ค้าอะไร     ?

นายล้ำ.     ฝิ่น.

พระยาภักดี.       อือ!   ได้กำไรดีหรือ    ?

นายล้ำ.     ฉิบหายหมดตัว.

พระยาภักดี.       อ้าว! ทำไมยังงั้น?

นายล้ำ.     เขาจับได้เสียน่ะซิ        เคราะห์ดีที่ไม่ติดคุกเข้าไปด้วย.

พระยาภักดี.       จริง เคราะห์ดี.

นายล้ำ.     รอดตัวที่หมอความของผมดี แก้ว่าผมไม่รู้ไม่เห็นด้วยจีนกิมจีนเง็กมากู้เงินผมไป ว่าจะไปทำทุนในการค้าขายล่องเรือข้าวหรืออะไรอันหนึ่ง, ผมก็จำไม่ได้ถนัดเสียแล้ว และจีนกิมจีนเง็กเอาเงินนั้นไปลงทุนซื้อฝิ่น   ผมไม่รู้ไม่เห็นด้วย,ที่จริงผมระวังตัวมาก คอยเลี่ยงไม่ออกหน้าออกตาเลย เพราะยังงั้นถึงได้หาพยานมายันผมยากนัก.

พระยาภักดี.       ฮือ! ก็จีนกิมจีนเง็กเล่า?

นายล้ำ.     ติดตะรางอยู่ที่พิษณุโลก.

พระยาภักดี.       อ้อ!

นายล้ำ.     แหม! วันนี้ร้อนจริง ทำให้ระหายน้ำพิลึก.

พระยาภักดี.       (เรียก.)      อ้ายคำ!      ไปหาโซดามาถ้วยเถอะ.

นายล้ำ.     โซดาเปล่าหรือครับ?

พระยาภักดี.       จะเอาครีมโซดาก็ได้ หรือน้ำแดง.

นายล้ำ.     น้ำเหลืองๆ ไม่มีหรือครับ      มันค่อยชื่นอกชื่นใจหน่อยหนึ่ง?

พระยาภักดี.       ไม่มี ถึงจะมีฉันก็ไม่เห็นควรจะกินเวลาร้อนๆ ยังงี้. (อ้ายคำยกโซดาเข้ามาทางขวาวางโซดาบนโต๊ะแล้วกลับออกไป  นายล้ำยกโซดาขึ้นดื่ม  ทำหน้าเหยแล้ววาง.)

นายล้ำ.     ที่พิษณุโลกก็พอหาอะไรดื่มได้พอใช้เทียวครับ.

พระยาภักดี.       (แลดูหน้านายล้ำ.) ฉันเชื่อ,เชื่อทีเดียว เออ! นี่แน่ะ ฉันขอถามอะไรสักหน่อยเถอะ แกมาหาฉันวันนี้น่ะมีธุระอะไร อย่าเกรงใจเลย เสียแรงเป็นเกลอกันมาแต่เก่าแต่แก่.

นายล้ำ.     ผมมาก็ตั้งใจมาเยี่ยมเจ้าคุณนั่นแหละอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งผมนึกว่าถ้ามีโอกาส จะได้พบแม่ลออบ้าง.

พระยาภักดี.       (หน้าตึง.) อ้อ!

นายล้ำ.     เขาว่าเป็นสาวใหญ่แล้วไม่ใช่หรือครับ?

พระยาภักดี.       ก็สาวอายุ ๑๗ แล้ว.

นายล้ำ.     อ้อ! ถูกครับ แล้วเขาว่าเหมือนแม่เขาไม่ใช่หรือครับ?

พระยาภักดี.       ก็เหมือน.

นายล้ำ.     ผมจะพบสักทีได้ไหมครับ?

พระยาภักดี.       ฉันบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสที่จะพบแม่ลออ.

นายล้ำ.     นัยว่าน่ะ    เจ้าคุณไม่เต็มใจให้ผมพบยังงั้นหรือ?

พระยาภักดี.       ถ้าจะให้ฉันตอบตามใจจริงก็ต้องตอบว่า ถ้าไม่พบได้ดีกว่า.

นายล้ำ.             (ออกโกรธ.)  ทำไม?

พระยาภักดี.       จะให้ฉันต้องอธิบายไปทำไม แกควรจะเข้าใจได้เองดีเทียว.

นายล้ำ.     เข้าใจยังไง?

พระยาภักดี.       จะให้ฉันพูดตามตรงอีกหรือ?

นายล้ำ.     เชิญ.

พระยาภักดี.       ถ้าอย่างงั้นก็เอาซิ        ที่ฉันไม่เต็มใจให้แกพบกับแม่ลออก็เพราะแม่ลออเป็นผู้ที่ได้รับความอบรมอันดี สมควรแก่ผู้มีตระกูล, ควรหรือที่หล่อนจะคบค้าสมาคมกับคน...เอ้อ...

นายล้ำ.     คนขี้คุกขี้ตะรางอย่างผมยังงั้นหรือ?

พระยาภักดี.       ฉันเสียใจ ที่แกมาบังคับให้ฉันต้องพูดให้ระคายหูแกเช่นนี้.

นายล้ำ.     ทำไมในโลกนมี้มีผมคนเดียวหรือที่เคยติดคุก,คนอื่นที่เคยติดคุกแล้วมาเที่ยวลอยหน้าสมาคมอยู่ในหมู่ผู้ลากมากดี มีถมไปไม่ใช่หรือ?

พระยาภักดี.       ทางที่จะต้องรับพระราชอาญามีหลายทาง บางคนก็พลาดอย่างโน้น บางคนก็พลาดอย่างนี้,ความผิดที่คนกระทำก็มีหลายชั้น.

นายล้ำ.     ยังงั้นซิ ถึงการฉ้อโกงก็มีหลายชนิดหลายชั้นเหมือนกัน ถ้าไม่ยังงั้นคุณเองจะได้มาลอยหน้าเป็นพระยาอยู่หรือ?

พระยาภักดี.       ที่แกพูดเช่นนี้ ถ้าเป็นคนอื่นเขาคงหาว่าแกหมิ่นประมาทเขา แต่ฉันน่ะเป็นคนที่รู้จักแกมาช้านานแล้ว      เพราะฉะนั้นพอจะให้อภัยได้.

นายล้ำ.     ขอบพระเดชพระคุณ ผมเข้าใจดีแล้ว ถ้าฉ้อโกงเล็กน้อยจึ่งจะมีโทษ โกงให้เป็นการใหญ่ไม่เป็นไร.

พระยาภักดี.       แกยังเข้าใจผิดอยู่มาก การที่คนได้รับพระราชอาญาคราวหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ว่าใครๆ     เขาจะพากันคอยตัดรอนไม่ให้มีการผงกหัวได้อีก ไม่ใช่เช่นนั้น ถ้าใครสำแดงให้ปรากฏว่า รู้สึกเข็ดหลาบเกรงพระราชอาญา ละความประพฤติที่ชั่ว ประพฤติทางที่ดีแล้ว ก็คงจะต้องมีผู้รู้สึกสงสารสักคราวหนึ่ง.

นายล้ำ.     เจ้าคุณจะพูดอย่างไรก็พูดได้ เจ้าคุณไม่เคยติดคุกจะมารู้ยังไงได้ ว่าอ้ายคนที่ติดคุกออกมาแล้วน่ะ มันจะได้รับความลำบากยังไง.

พระยาภักดี.       ฉันขอถามหน่อยเถอะ ว่าตั้งแต่แกพ้นโทษมาแล้วแกได้พยายามที่จะสำแดงให้ปรากฏอย่างไรบ้าง ว่าแกน่ะตั้งใจจะประพฤติแต่ในทางที่ดีที่ควร?

นายล้ำ.     ผมจะพยายามหรือมิพยายามก็ไม่มีใครปรารถนาอินัง.

พระยาภักดี.       อ้อ เพราะฉะนั้น  แกก็เลยปล่อยตัวไปตามใจของแกยังงั้นซิ.

นายล้ำ.     (หัวเราะ.)  เจ้าคุณต้องเข้าใจว่าผมก็รักชีวิตของผมเหมือนกัน   ที่จะให้ผมอดตายนั้นเหลือเกินนัก ผมหาได้ทางไหนผมก็เอาทางนั้น.

พระยาภักดี.       ฮือ! แกอยากจะพบแม่ลออทำไม?

นายล้ำ.     ผมไม่ได้เห็นหล่อน ตั้งแต่หล่อนอายุได้ ๒ ปีเศษเท่านั้น ผมก็อยากจะดูว่าเดี๋ยวนี้ หล่อนจะเป็นยังไง.

พระยาภักดี.       อ้อ? นั่นแน่รูปแม่ลออฉายเมื่อเร็วๆ นี้เอง ,(ลุกไปหยิบรูปมาส่งให้นายล้ำ.)  ดูรูปนี่ก็เท่ากับดู

                ตัวเหมือนกัน.

นายล้ำ.     (รับรูปไปดูแล้วพูด.) ฮือ! เหมือนแม่จริงขอรับ ผมได้ทราบข่าวว่าจะแต่งงานกับนายทองคำลูกเจ้าคุณรณชิตไม่ใช่หรือครับ?

พระยาภักดี.       ยังงั้น.

นายล้ำ.     จะแต่งเมื่อไรครับ        ?

พระยาภักดี.       ยังไม่แน่    เห็นจะในเร็วๆนี้.

นายล้ำ.     ถ้ากำหนดวันแน่เมื่อไหร่ ใต้เท้าโปรดบอกให้ผมทราบด้วยนะครับ.

พระยาภักดี.       จำเป็นหรือ?

นายล้ำ.     ผมจะได้มาช่วยงาน.

พระยาภักดี.       อะไรแกจะมาด้วยหรือ ตริตรองเสียให้ตลอดหน่อยเถอะ.

นายล้ำ.     ผมเห็นควรตัวผมจะมารดน้ำด้วยนะครับ.

พระยาภักดี.       นี่แกเอาอะไรมานึก!

นายล้ำ.     เอ๊ะ! เจ้าคุณนี่ชอบกลจริงๆ ก็แม่ลออน่ะลูกผมแท้ๆ ไม่ใช่หรือ    ?

พระยาภักดี.       อ้อ? นี่แกพึ่งรู้สึกตัวแหละหรือว่าแม่ลออเป็นลูกแก ที่จริงฉันเองก็เกือบจะลืมเสียแล้ว ว่าแกน่ะเป็นพ่อแม่ลออ.

นายล้ำ.     จริง, ผมมีความผิดที่ทิ้งแม่ลออไปเสียนาน นี่แม่ลออคงไม่รู้เลยละซิว่าผมเป็นพ่อ    เห็นจะนึกว่าเจ้าคุณเป็นพ่อกระมัง.

พระยาภักดี.       เขารู้ว่าฉันเป็นแต่พ่อเลี้ยงเขา ฉันบอกเขาว่าพ่อเขาตายเสียตั้งแต่เขายังเล็กๆ เขาก็เลยนับถือฉันเป็นพ่อ.

นายล้ำ.     ก็แม่เขาไม่บอกไม่เล่าอะไรให้ลูกเขารู้มั่งเลยหรือ?

พระยาภักดี.       เขาไม่ได้บอก.

นายล้ำ.     ทำไม?

พระยาภักดี.       แกไม่ควรจะต้องถามเลย      แกรู้อยู่ดีแล้วว่าตั้งแต่แรกได้แม่นวลมาแล้ว แกไม่ได้ทำให้เขา    เป็นที่พอใจเลยสักขณะจิตเดียว.

นายล้ำ.     จริงซิ! นี่เจ้าคุณคงนึกละซิว่า ถ้าแม่นวลน่ะได้กะเจ้าคุณเสียจะดีกว่า.

พระยาภักดี.       ก็หรือมันไม่จริงเช่นนั้นล่ะ    แม่นวลเลือกผัวผิดแท้ทีเดียว เมื่อจะตายหล่อนก็รู้สึก จึงได้มอบแม่ลออไว้ให้เป็นลูกฉัน ขอให้ฉันเลี้ยงดูให้เสมอลูกในไส้ฉันเอง   ฉันก็ได้ตั้งใจทะนุถนอมแม่ลออเหมือนลูกในอกฉัน ฉันได้กระทำหน้าที่พ่อตลอดมา โดยความเต็มใจจริงๆ, แม่ลออเองคงจะเป็นพยานว่าฉันไม่ได้กระทำให้เสียวาจา ที่ฉันให้ไว้แก่แม่นวลเลย.

นายล้ำ.             จริง ผมน่ะได้ประพฤติไม่ดี บกพร่องในหน้าที่บิดามาก, แต่ต่อไปผมจะตั้งใจประพฤติให้

สมควร.                                    

พระยาภักดี.       ดูเกินเวลาเสียแล้ว แม่ลออก็จะมีเหย้ามีเรือนอยู่แล้ว.

นายล้ำ.             ผมไม่เห็นจะเกินเวลาไปเลย.

พระยาภักดี.       แกคิดจะทำอะไร ?

นายล้ำ.             ผมคิดว่า    เป็นหน้าที่จะต้องมาอยู่ใกล้ชิดลูกสาวผม เพื่อจะได้ช่วยเหลือเจือจานในธุระต่าง      ๆ              ตามเวลาอันสมควร.

พระยาภักดี.       ฉันบอกแล้วว่าแเขาจะมีเหย้ามีเรือนอยู่แล้ว.

นายล้ำ.             ทราบแล้ว, เมื่อยังอยู่ในบ้านเจ้าคุณผมก็วางใจได้ นี่จะแยกไปมีเหย้ามีเรือนของตัวเองแล้ว            ผมจะต้องเข้ามาอยู่กับเขาเพื่อจะได้เป็นกำลังแก่เขาบ้าง.

พระยาภักดี.       เอ๊ะ! แกนี่จะเป็นบ้าเสียแล้วกระมัง  ?

นายล้ำ.             ทำไม?

พระยาภักดี.       แกจะคิดไปอยู่กับลูกสาวยังงั้นยังไงได้.

นายล้ำ.     ทำไมครับ ก็ผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยผมน่ะ เขาก็มั่งมีพออยู่ไม่ใช่หรือ เขาจะเลี้ยงผมไว้ อีกสักคนไม่ได้เทียวหรือ     ?

พระยาภักดี.       แกจะไปเป็นเจ้าบุญนายคุณอะไรเขา เขาจะได้เลี้ยงแก?

นายล้ำ.     ผมเป็นพ่อแม่ลออ ดูก็มีบุญคุณพอแล้ว.

พระยาภักดี.       เอ๊ะ! นี่แกจะขยายขึ้นว่า แกเป็นพ่อแม่ลออยังงั้นหรือ        ?

นายล้ำ.     ก็ยังงั้นซิขอรับ.

พระยาภักดี.       พุทโธ่! นี่แกน่ะไม่มีความเมตตาลูกแกบ้างเลยเทียวหรือถึงได้คิดร้ายแก่เขาได้ยังงั้น?

นายล้ำ.     คิดร้ายยังไง?

พระยาภักดี.       นายทองคำเขาจะมาแต่งกับลูกสาวคนเช่นแกได้อยู่หรือ?

นายล้ำ.     ถ้าเขารักแม่ลออจริงละก็ ถึงผมจะเป็นคนเลวกว่าที่ผมเป็นอยู่นี่ เขาคงไม่รังเกียจ.

พระยาภักดี.       ถึงนายทองคำจะไม่รังเกียจ คนอื่นๆก็คงต้องรังเกียจ        ใครเขาจะมาคบค้าสมาคมได้อีกต่อไปไปข้างไหนเขาก็จะแลดูพูดซุบซิบกัน ถ้าใครเขาเลี่ยงได้เขาก็คงเลี่ยง แกจะมาทำให้แม่ลออเป็นหมาหัวเน่าหรือ?

นายล้ำ.     เจ้าคุณ!     ผมจะต้องพูดตามตรง ผมน่ะมันหมดทางหากินแล้ว ไม่แลเห็นทางอื่น นอกจากที่จะอาศัยลูกสาวให้เขาเลี้ยง.

พระยาภักดี.       อ๋อ! นี่น่ะ แกต้องการเงินยังงั้นหรือ        ?

นายล้ำ.     ก็แน่ละ      ไม่มีเงินก็อดตายเท่านั้นเอง.

พระยาภักดี.       ก็จะพูดกันเสียตรง ๆ เท่านั้นก็จะแล้วกัน เอาเถอะฉันให้แกเดี๋ยวนี้ก็ได้        เท่าไหร่ถึงจะพอ                 เอาไปสิบชั่งก่อนพอไหม?

นายล้ำ.             ไม่รับประทาน.

พระยาภักดี.       ยี่สิบชั่ง!

นายล้ำ.             ไม่รับประทาน.

พระยาภักดี.       ห้าสิบชั่ง!

นายล้ำ.             พุทโธ่! เจ้าคุณ!   แต่ที่ผมฉิบหายไปในเรื่องค้าฝิ่นนั่นก็เกือบร้อยชั่งเข้าไปแล้ว.

พระยาภักดี.       เอา! ร้อยชั่งก็เอา!

นายล้ำ.            ผมไม่อยากให้เจ้าคุณฉิบหายหรอก.

พระยาภักดี.       ช่างฉันเถอะ ขอแต่ให้แกรับเงินร้อยชั่งแล้วก็ไปเสียให้พ้นเถอะ.

นายล้ำ.     ถ้าหมดผมจะไปเอาที่ไหนอีกล่ะ? ผมไม่โง่นะเจ้าคุณ ถ้าให้ผมไปอยู่เสียกับลูกสาวผม เงินก็จะไม่เสียมาก.

พระยาภักดี.       เงินน่ะฉันไม่เสียดายหรอก   ฉันเสียดายชื่อและเสียดายความสุขของแม่ลออมากกว่า.

นายล้ำ.     คุณจะให้ผมขายลูกผมยังงั้นหรือ?

พระยาภักดี.       จะเรียกว่ากระไรก็ตามใจเถอะ แต่ที่จริงฉันตั้งใจซื้อความสุขให้แก่แม่ลออเท่านั้น.

นายล้ำ.     ที่คุณจะมาพรากพ่อกับลูกเสียเช่นนี้น่ะ คุณเห็นสมควรแล้วหรือ?

พระยาภักดี.       ฉันเห็นสมควรแล้ว ฉันจึงได้ประสงค์ที่จะทำ   แม่ลออน่ะดีเกินที่จะเป็นลูกคนเช่นแกยังไง!จะต้องการเงินเท่าไร ว่ามา! (ลุกขึ้นยืนจ้องนายล้ำ.)

นายล้ำ.     ผมไม่ต้องการเงินของคุณ    ผมจะพบกับลูกผม.

พระยาภักดี.       ฉันไม่ยอมให้แกพบ จะเอาเงินเท่าไรจะให้.

นายล้ำ.     ผมไม่เอาเงินของคุณ.

พระยาภักดี.       ถ้ายังงั้นก็ไปให้พ้นบ้านฉัน, ไป!

นายล้ำ.     ผมไม่ไป, จะทำไมผม?

พระยาภักดี.       นี่แน่, แกอย่ามาทำอวดดีกับฉัน ไป!

นายล้ำ.     ผมไม่ไป    (นั่งไขว่ห้างกระดิกขาเฉย.)

พระยาภักดี.       อย่าทำให้เกิดเคืองมากขึ้นหน่อยเลย ประเดี๋ยวฉันจะเหนี่ยวใจไว้ไม่อยู่.

นายล้ำ.     คุณจะทำไมผม?

พระยาภักดี.       ฉันไม่อยากทำอะไรแก แต่ถ้าแกไม่ไปล่ะก็...

นายล้ำ.     จะทำไมผม แหม ! ทำเก่งจริงนะ เจ้าคุณน่ะแก่แล้วนะครับ จะประพฤติเป็นเด็กไปได้.

พระยาภักดี.       จริง, ฉันแก่จริง  แต่ขอให้เข้าใจว่าแกสู้ฉันไม่ได้นะ ฉันได้เปรียบแกมากกำลังฉันยังมีพอตัวกำลังแกน่ะมันอ่อนเสียแล้ว ฤทธิ์เหล้ามันเข้าไปฆ่ากำลังแกเสียหมดแล้ว.

นายล้ำ.     (หัวเราะเยาะ.)  ฮะๆ ! ช่างพูดจริง  ยังไม่เบาบางลงกว่าเมื่อหนุ่มๆเลย.

พระยาภักดี.       (โกรธ.) ยังไง จะเอาเงินหรือจะเอาแส้ม้า?

นายล้ำ.             ผมไม่เอาทั้งสองอย่าง.

พระยาภักดี.       ถ้าอย่างงั้นก็ได้.

นายล้ำ.             คุณพูดซ้ำซากผมเบื่อเต็มทีแล้ว.

พระยาภักดี.       ก็ถ้าเมื่อพูดกันดีๆ ไม่ชอบ     ก็ต้องพูดกันอย่างเดียรฉาน! (ไปหยิบแส้ม้าที่แขวนไว้ที่ผนังลงมา.)                เอาเถอะ! เป็นไรก็เป็นไป      จะต้องเล่นงานเสียให้ลายไปทั้งตัวละ. (เงื้อแส้ม้าจะตีนายล้ำ.)

นายล้ำ.     (ตกใจลุกขึ้นยืน.)       อ๊ะ! อ๊ะ!      เจ้าคุณ!   (ยกแขนขึ้นป้อง.)  (อ้ายคำเข้ามาทางขวา  พระยาภักดีหย่อนมือลง.)

อ้ายคำ.      ใต้เท้าขอรับ คุณลออขึ้นกระไดมานี่แล้ว. (ออกไปตามทางเดิม.)   (พระยาภักดีรีบเอาแส้ม้าไปแขวนไว้ตามที่เดิม.)

นายล้ำ.     (หัวเราะ.) ฮะๆ! เคราะห์ดีจริง ตกรกซิ  (แม่ลออเข้ามาทางขวา แม่ลอออายุประมาณ ๑๗ ปี แต่งกายอย่างไปเที่ยวนอกบ้าน  พึ่งกลับมา.)

แม่ลออ.     แหม! คุณพ่อ อะไรวันนี้กลับมาบ้านวันจริง     ฉันหมายจะกลับมาให้ทันคุณพ่อกลับทีเดียว.

พระยาภักดี.       (ยิ้ม.) พ่อได้เลิกงานเร็วหน่อยก็รีบกลับมา.

แม่ลออ.     (มองดูนายล้ำ  แล้วหันไปพูดกับพระยาภักดี.) นั่นใครคะ?

พระยาภักดี.       คนเขามาหาพ่อ.

นายล้ำ.     ฉันเป็นเกลอเก่าของเจ้าคุณ ท่านนับถือฉันเหมือนน้องยังไงขอรับ ?  

(พระยาภักดีพยักหน้า.)

แม่ลออ.     อ้อ! (ลงนั่งไหว้.) ถ้ายังงั้นดิฉันก็ต้องนับถือคุณเหมือนอาดิฉันเหมือนกัน ทำไมดิฉันยังไม่รู้จักคุณอาเลย.

นายล้ำ.             ฉันอยู่หัวเมือง พึ่งเข้ามา แต่ฉันเคยเห็นหล่อนแล้ว.

แม่ลออ.             เมื่อไหร่คะ? ทำไมดิฉันจำไม่ได้ ดิฉันเป็นคนที่จำคนแน่นัก.

นายล้ำ.     (ยิ้ม.) หล่อนเห็นจะจำฉันไม่ได้เลย เมื่อฉันได้เห็นหล่อนครั้งก่อนนี้น่ะ อายุหล่อนได้สองปีเท่านั้น.

แม่ลออ.     แหม! ถ้ายังงั้น คุณคงรู้จักคุณแม่ดิฉันละซิคะ.

นายล้ำ.     (แลดูตาพระยาภักดีแล้วจึงพูด เสียงออกเครือๆ.) ฉันรู้จักคุณแม่หล่อนดี.

แม่ลออ.     ถ้ายังงั้นดิฉันก็ยิ่งดีใจมากขึ้นที่ได้พบคุณ ก็คุณพ่อดิฉันที่ตายล่ะคะรู้จักไหม?                    (นายล้ำพยักหน้า.) ถ้ายังงั้นคุณก็ดีกว่าดิฉัน       ดิฉันไม่รู้จักเลย,เคยเห็นแต่รูปที่ในห้องคุณแม่รูปร่างสูง ๆ หน้าอกกว้าง       ดิฉันช่างชอบหน้าเสียจริง       ๆ หน้าตาเป็นคนซื่อ ใจคอกว้างขวาง, ถ้าใครบอกดิฉันว่าเป็นคนไม่ดี ดิฉันไม่ยอมเชื่อเป็นอันขาดเทียว แต่ท่านก็เป็นคนดีจริง   ๆอย่างที่ดิฉันนึกเดาเอาในใจ คุณพ่อนี่ก็ได้บอกดิฉันว่างั้น จริงไหมคะคุณพ่อ? (พระยาภักดีพยักหน้า.)

นายล้ำ.     ถ้าใครบอกหล่อนว่า พ่อหล่อนที่ตายน่ะเป็นคนไม่ดีละก็หล่อนเป็นไม่ยอมเชื่อเลยเทียวหรือ?

แม่ลออ.     ดิฉันจะเชื่อยังไง ดูในรูปก็เห็นว่าเป็นคนดี. เออ! นี่คุณพ่อบอกแล้วหรือยังเรื่องดิฉันจะแต่งงาน?

นายล้ำ.     บอกแล้ว, ฉันยินดีด้วย.

แม่ลออ.     คุณอาต้องมารดน้ำดิฉันนะคะ.

นายล้ำ.     ฉัน เอ้อ ฉันจะต้องรีบกลับไปหัวเมือง.

แม่ลออ.     โธ่! จะอยู่รดน้ำดิฉันหน่อยไม่ได้เทียวหรือคะ  ?

นายล้ำ.     ฉันจะขอตริตรองดูก่อน แต่ยังไงๆ ก็ดีถึงฉันจะอยู่รดน้ำหล่อนไม่ได้ ฉันก็คงตั้งใจอวยพรให้หล่อนมีความสุข.

แม่ลออ.     (ไหว้.) ดิฉันรับพรล่วงหน้าไว้ก่อน.        คุณพ่อคะ ช่วยพูดจาชวนคุณอาให้อยู่รดน้ำดิฉันหน่อยนะคะ ดิฉันจะเข้าไปในเรือนเสียทีละ  คุณพ่อกับคุณอาคงอยากคุยกันอย่างผู้ชายๆ สนุกกว่า.(ออกไปทางประตูซ้าย.)

นายล้ำ.     (นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดเสียงออกเครือ ๆ.) เจ้าคุณขอรับ ใต้เท้าพูดถูก, เด็กคนนี้ดีเกินที่จะเป็นลูกผม     ผมมันเลวทรามเกินที่จะเป็นพ่อเขา ผมพึ่งรู้สึกความจริงเดี๋ยวนี้เอง.

พระยาภักดี.       (ตบบ่านายล้ำ.)   พ่อล้ำ!

นายล้ำ.     หล่อนได้เขียนรูปพ่อของหล่อนขึ้นไว้ในใจเป็นคนดีไม่มีที่ติ ผมไม่ต้องการจะลบรูปนั้นเสียเลย.(ถอดแหวนวงหนึ่งจากนิ้ว.) นี่แน่ะครับ แหวนนี้เป็นของแม่นวล ผมได้ติดไปด้วยสิ่งเดียวเท่านี้แหละ เจ้าคุณได้โปรดเมตตาผมสักที พอถึงวันแต่งงานแม่ลออ เจ้าคุณได้โปรดให้แหวนนี้แก่เขา บอกว่าเป็นของรับไหว้ของผม      ส่งมาแทนตัว.

พระยาภักดี.       (รับแหวน.) ได้ซิเพื่อนเอ๋ย    ฉันจะจัดการตามแกสั่งอย่าวิตกเลย.

นายล้ำ.     แล้วผมขออะไรอีกอย่าง.

พระยาภักดี.       อะไร? ว่ามาเถอะ ฉันไม่ขัดเลย.

นายล้ำ.     อย่าได้บอกความจริงแก่แม่ลออเลย        ให้เขาคงนับถือรูปผมอันเก่านั้น ว่าเป็นพ่อเขาและให้นับถือตัวผมเป็นเหมือนอา.

พระยาภักดี.       เอาเถอะ, ฉันจะทำตามแกประสงค์.

นายล้ำ.             ผมลาที      พรุ่งนี้เช้าผมจะกลับไปพิษณุโลก.

พระยาภักดี.       เอาเงินไปใช้มั่งซิ. (ไปไขกุญแจ เปิดลิ้นชักโต๊ะหยิบธนบัตรออกมาปั้นหนึ่ง.) เอ้า! นี่แน่ะ                        มีสักสามสี่ร้อยบาทได้อยู่      เอาไปใช้ก่อนเถอะ ต้องการอีกถึงค่อยบอกมาให้ฉันทราบ.

นายล้ำ.             (เสียงเครือ.) เจ้าคุณ! ผม...ผม... (เช็ดน้ำตา.)

พระยาภักดี.       อ๊าย! ไม่รับไม่ได้ ไม่รับโกรธกันเทียว. (ยัดเยียดธนบัตรให้นายล้ำ.)

นายล้ำ.     (รับธนบัตร.) ผมจะไม่ลืมพระเดชพระคุณใต้เท้าจนตายทีเดียว  ขอให้เชื่อผมเถอะ.

พระยาภักดี.       อย่าพูดให้มากนักเลย เงินใส่กระเป๋าเสียเถอะ แล้วก็คิดอ่านหาทางทำมาหากินต่อไปนะ   .นายล้ำ.            ขอรับ        ผมจะตั้งใจทำมาหากินในทางอันชอบธรรมจริงๆ ทีเดียว ถ้าผมน่ะคิดโยกโย้ไปอย่าง

ใดอย่างหนึ่งอีก  ขออย่าให้ผมแคล้วอาญาจักรเลย.

พระยาภักดี.       เออๆ ตั้งใจไว้ให้ดีเถอะ นึกถึงแม่ลออบ้างน่ะ.

นายล้ำ.     ผมจะลืมหล่อนไม่ได้เลย จะเห็นหน้าหล่อนติดตาไปจนวันตายทีเดียว. ผมลาที           ผมไม่จำเป็นที่จะต้องฝากแม่ลออแก่เจ้าคุณ เพราะเจ้าคุณได้เป็นพ่อหล่อนดียิ่งไปกว่าผม ร้อยเท่าพันทวี (เช็ดน้ำตา.)

พระยาภักดี.       เอาเถอะ     อย่าวิตกเลย แม่ลออน่ะฉันคงจะรักถนอมเหมือนอย่างเดิม.

นายล้ำ.     ผมเชื่อ,      เชื่อแน่นอน!   (ยกมือขึ้นไหว้.) ผมลาเจ้าคุณที.

(พระยาภักดีเข้าไปจับมือนายล้ำ ต่างคนต่างแลดูตากันอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพระยาภักดี นึกอะไรขึ้นมาออกเดินไปที่โต๊ะเขียนหนังสือ หยิบรูปแม่ลออทั้งกรอบด้วยส่งให้นายล้ำ นายล้ำรับรูป ไปดูอยู่ครู่หนึ่ง ไหว้พระยาภักดีอีกแล้วก็รีบเดินออกไปทางประตูขวา   พระยาภักดียืนมองไปทางประตู ครู่หนึ่งแล้วก็เดินออกไปที่หน้าต่างทางด้านหลังยืนพิงกรอบหน้าต่าง  ตามองออกไปนอกหน้าต่าง นิ่งอยู่จนปิดม่าน.)



จบเรื่อง


[1] ในพระราชนิพนธ์พระบางสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนตามพระราชนิยม